Wednesday, April 11, 2018

เรียนรู้นอกห้องเรียน ตอน พืชผักพื้นบ้าน ในจังหวัดนครราชสีมา

สันติ วัฒฐานะ
11 เมษายน 2561

ทุกครั้งที่เดินในตลาด ผมจะมุ่งความสนใจไปที่ชนิดผักแปลกๆ เพราะอยากที่จะทราบว่าเป็นผักชนิดใด นำไปกินอย่างไร และด้วยความที่เป็นนักพฤกษศาสตร์สายอนุกรมวิธานพืช ที่ต้องรู้จักชนิดของพืชแล้ว การที่ได้ทราบว่า พืชพื้นเมืองชนิดไหนนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมากินเป็นอาหาร มันเป็นอรรถรสของชีวิตอย่างหนึ่ง

เมื่อมาเป็นอาจารย์สอนในสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จึงได้มีโอกาสถ่ายทอด ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้จากการประสบการณ์ของผมเองไปสู่นักศึกษาชีววิทยา ด้วยการนำพาไปศึกษาผักพื้นบ้านในตลาดนัดตอนเย็น หน้าสวนสัตว์นครราชสีมา ในวันพุธ ที่ 11 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาพฤกษศาสตร์เศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษารู้จักชนิดพืชผักพื้นบ้าน ฝึกกระบวนการคิดในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการให้สังเกต ตั้งคำถาม และหาคำตอบ ก่อนการเข้าพื้นที่และในระหว่างเข้าพื้นที่ แล้วมาสรุปประเด็นที่ได้เรียนรู้ในบรรยากาศจริงร่วมกัน รวมถึงถอดบทเรียนและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน

ความหลากหลายของผักในตลาดสด หน้าสวนสัตว์นครราชสีมา จ.นครราชสีมา

           จากการสำรวจแผงขายผักในตลาดแห่งนี้ จำนวน 20 ร้าน ในวันที่  11 เมษายน 2561 พบพืชผักจำนวน 75 ชนิด โดยมีพืชผักพื้นบ้านที่เก็บหามาโดยไม่ได้ทำการปลูกในปริมาณมากเพื่อการค้า จำนวน 30 ชนิด (ประมาณ 40% ของชนิดผักที่มีขายในตลาด) ได้แก่ แต้ว ยอดมะกอก ผักกาดสร้อย ผักแว่น หูปลาช่อน ก้านกะบุก พฤกษ์ ชะมวง สายบัวแดง ผักละม่อม กะทกรก ผักเม็ก ขี้เหล็ก ดอกกระเจียว ผักอีนูน ตำลึง เป็นต้น แสดงให้เห็นว่ายังคงความหลากหลายของชนิดผักพื้นเมืองอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะคนรุ่นใหม่ มีความนิยมที่จะกินผักเหล่านี้น้อยลงไปตามวิถีการดำรงชีวิตแบบเร่งด่วน อย่างไรก็ตามผักที่เก็บจากป่าเหล่านี้ เป็นผักที่ปลอดสารเคมี การรับประทานผักเหล่านี้ย่อมดีแน่นอน และถ้าคิดว่าการทำอาหาร คือ การผ่อนคลายจากการงาน มาคิดเมนูจากผักพื้นบ้านทำกินเองกันเถอะครับ

ผลลัพธ์จากการเรียนรู้ของเด็กๆ ในครั้งนี้

           ก่อนการเข้าพื้นที่ผมได้มอบหมายงานให้นักศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อเขียนบทความเชิงสารคดีเกี่ยวกับผักในตลาด และหลังจากที่ผมให้เด็กๆ ไปเดินดูชนิดผักพื้นบ้าน ตามความสนใจของแต่ละคน ประมาณครึ่งชั่วโมงแล้ว ให้กลับมาอภิปรายร่วมกันทั้งกลุ่ม ซึ่งประเด็นที่เด็กๆ ได้มาแลกเปลี่ยนกัน ได้แก่ (1) ที่มาของผักชนิดต่างๆ ว่ามาได้อย่างไร จากการปลูก การซื้อมาขาย หรือเก็บหาจากป่า (2) ผักในกลุ่มที่มีความสับสน เช่น กระเพรา โหรพา แมงลัก หรือกลุ่มผักชีล้อม ผักชี คึ่นไช่ ผักชีใบเลื่อย ว่าจะจำแนกอย่างไร (3) ชนิดผักที่มาจากป่ามีอะไรบ้าง (4) ผักที่ขายเป็นชุดๆ พร้อมนำไปปรุงอาหาร มีอะไรบ้าง และ (5) ได้รู้จักผักบางชนิดที่เด่นๆ  เป็นต้น

           สิ่งหนึ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ คือ ประสบการณ์จาการสัมภาษณ์แม่ค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคม โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์กับคน อันเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนอย่างดี โดยก่อนหน้านี้หลายคนรู้สึกกลัวที่จะไปสัมภาษณ์ แต่ก็ประทับใจและผ่านไปได้กับอารมณ์นั้น บางคนได้สัมผัสกับความรู้สึกที่เป็นภาระให้แม่ค้า แต่ก็ได้เรียนรู้ในการที่จะปรับกระบวนการทำงานให้หลีกเลี่ยงการรบกวนผู้อื่น อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้ประสบ คือ ต้องคิดไวในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

           บทเรียนทางวิชาการและบทเรียนในการปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม ผ่านการเรียนรู้เรื่องผักพื้นบ้าน ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักศึกษาชีววิทยา ทั้งทางวิชาการและทางด้านสังคม หรือแม้กระทั่งผมเอง ก็ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับเด็กๆ ไปด้วยในครั้งนี้ ซึ่งได้เห็นสิ่งที่เป็นข้อด้อยของกระบวนการ ที่จะนำไปปรับแก้ไขต่อไป นับเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตจริงๆ


                ผักกินกับน้ำพริกชนิดต่างๆ  

 ผักละม่อม (Clerodendrum indicum Kuntze) 

 กระเจียวขาว (Curcuma sp.) 
 ยอดกะทกรก (Olax scandens Roxb.) 
 ผักแว่น (Marsilea crenata C. Presl)

 ผักอีนูน (Adenia viridiflora Craib)



ผักเสียน (Cleoma gynandra L.)
 น้ำย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels.)