Sunday, May 11, 2014

รองเท้านารี ในสภาพธรรมชาติ Paphiopedilum in natural habitat


นับตั้งแต่เริ่มทำงานด้านการสำรวจชนิดพันธุ์พืช ที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ มา 20 ปี ในฐานะนักพฤกษศาสตร์ มีเพียงไม่กี่ครั้งที่จะได้มีโอกาสพบเจอประชากรกล้วยไม้รองเท้านารี กล้วยไม้ยอดนิยมอันเป็นที่หมายปองของผู้คนที่รักต้นไม้จำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วผมจะพบเห็นกล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ในกระถางตามตลาดต้นไม้หรืองานประกวดต้นไม้ทั่วไป ซึ่งยอมรับว่าเป็นกล้วยไม้ที่ตรึงตราตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง โดยก่อนหน้านี้ผมเองก็ไม่คิดว่าจะมาสนใจศึกษากล้วยไม้เลย เนื่องจากคิดว่ามีคนสนใจกันเยอะแล้ว และเป็นพืชที่มีความสวยงามเกินกว่าที่ผมจะเอื้อมมือไปไขว่คว้า ชีวิตมาผกผันตอนที่ไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศเดนมาร์ก แล้วไม่มีหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ที่เหมาะสม จึงจับพลัดจับผลูไปทำวิจัยกล้วยไม้กับ ดร.Henrik Pedersen ผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้จากประเทศเดนมาร์ก บางครั้งเกิดความรู้สึกว่า กล้วยไม้ทำให้มีงานที่ต้องทำเยอะมาก และยิ่งศึกษากล้วยไม้นานวัน ก็ยิ่งมีอุปสรรคมากมาย เพราะเพื่อนร่วมโลกของเรากลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง หลายชนิดกำลังจะจากเราไปด้วยน้ำมือของเราเอง นั่นเป็นเพราะความสวยงาม คือ ภัยอันตรายที่ธรรมชาติกำหนดมาให้ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของผมเคยกล่าวไว้ว่า กล้วยไม้เป็นพืชที่มีกรรม ใครเห็นก็อยากเอาไปไว้ ด้วยความที่น่ารักและน่าสงสารของกล้วยไม้ งานที่ต้องเร่งทำ ก็คือ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของสวนพฤกษศาสตร์ หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่
รองเท้านารีเป็นกล้วยไม้กลุ่มอันดับต้นๆ ที่ต้องได้รับการใส่ใจในการอนุรักษ์ เพราะมันกำลังถูกคุกคามจากปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติ และการนำออกจากป่าในปริมาณมากเกินไป แม้ว่าผมจะสนใจศึกษางานวิชาการด้านชีววิทยาเพื่อการอนุรักษ์ ผมก็ยังไม่กล้าที่จะทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับรองเท้านารีในสภาพธรรมชาติ เพราะการติดตามเก็บข้อมูลทางชีววิทยาของประชากรในป่านั้น ต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลนานนับปี เพื่อให้เข้าใจรูปแบบการดำรงชีวิตของมัน เหตุผลที่ผมกลัวก็คือ เมื่อวางแปลงศึกษาแล้ว มันอาจหายไประหว่างที่ทำการศึกษา ทำให้โครงการวิจัยที่ได้งบประมาณมาดำเนินการอาจไม่จบและมีปัญหา และปัญหานี้ผู้เชี่ยวชาญด้านรองเท้านารีท่านหนึ่งก็เคยประสบมาแล้ว เจ้าหน้าที่อนุรักษ์จึงมักจะไม่ระบุพื้นที่ๆ พบในธรรมชาติกัน เพื่อเป็นการปกป้องชนิดพันธุ์ในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว คือ การฟื้นฟูจำนวนประชากรและเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม และส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนโดยไม่รบกวนประชากรธรรมชาติ


รองเท้านารีเหลืองกระบี่ (Paphiopedilum exul) ที่มีการพัฒนาพันธุ์ให้สวยงาม ในงานประกวดกล้วยไม้
Lady's slipper orchids (Paphiopedilum exul) which had been selected for ornamental purpose in flower show festival in Thailand.

ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่อนุรักษ์และนักอนุรักษ์สมัครเล่น เชื้อชวนให้ผมไปดูประชากรรองเท้านารีเวศย์วรุฒม์ในสภาพธรรมชาติที่จังหวัดตาก เพื่อไปเก็บข้อมูลทางชีววิทยา และหาทางเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้น ด้วยความเป็นห่วงว่าจะหายไป เพราะมีเพียงประชากรเดียวที่พบอยู่ในปัจจุบัน จึงได้ร่วมทีมกับเขาไปบุกป่าฝ่าดง และนำมาเล่าสู่กันฟัง
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากเห็น คือ ฝักของรองเท้านารี เพื่อจะได้ดูว่าในประชากรนี้มีการผลิตฝักปริมาณมากน้อยเพียงใด มีโอกาสสร้างลูกสร้างหลานสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมันได้ไหม และมีต้นกล้าขึ้นเองในธรรมชาติบ้างหรือเปล่า เหล่านี้ คือ ดัชนีชี้ความอุดมสมบูรณ์ของประชากร แตกต่างจากคนอื่นที่ชื่นมื่นกับการที่ได้เห็นดอก แต่สำหรับนักวิชาการด้านการอนุรักษ์จะดีใจมากที่ได้เห็นฝักจำนวนมากและมีต้นกล้าขึ้นมาทดแทน
บ่ายวันร้อนอบอ้าว ในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พาพวกเราไปถึงจุดที่จะปีนเขาหินปูน เพื่อขึ้นไปดูประชากร โดยเตือนก่อนว่า ช่วงนี้ฝนตกทุกวันช่วงบ่าย และลมแรงด้วย ที่หนักใจก็ คือ ประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเขาหินปูน เพราะเคยพลัดตกลงมาหัวแตกที่ดอยเชียงดาวเมื่อหลายปีก่อน แต่ในเมื่อคิดจะไปแล้วก็คงไม่ท้อ ใจน่ะไปอยู่ที่ที่ต้นรองเท้านารีแล้วทั้งที่ยังไม่เริ่มเดิน ช่วงที่ยากที่สุด คือ ตอนที่ปีนหินปูนขึ้นไป แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ตอนลงยากกว่าอีก ผมทำได้ดีที่สุด คือ คิดถึงปัจจุบัน จะกลับก็กลับไม่ได้แล้ว แถมยังคิดอีกว่า มาทำไมเนี๊ยะ นั่งในห้องแอร์ดีๆ ไม่ชอบ แค่เดินขึ้น 10 เมตร 15 เมตร ก็ต้องหยุดพักแล้ว มันเหมือนหายใจไม่ทัน ใจจะขาดน่ะ แบกเป้ที่ใส่อุปกรณ์กล้องที่หนักไม่น้อย เหงือท่วมตัวเลยที่เดียว ทั้งแสบตา แล้วก็เหมือนได้กินเกลือตลอดเวลา เนื่องเพราะเหงื่อที่ไหลลงมาที่ปาก แถมต้องถอดแว่นออกมาเช็ดหยดเหงือบ่อยครั้ง โชคดีที่เจ้าหน้าที่ช่วยถือขาตั้งกล้องให้ จึงได้ใช้มือเกาะหินปูนไต่ขึ้นไปอย่างสะดวด แต่ก็ทำเป็นดูต้นไม้ต้นโน้นต้นนี้ แอบหายใจเบาๆ แต่บางครั้งก็หลุดออกมาดังฟู่ยาวๆ หลายครั้ง ก็มันเหนื่อยน่ะ

ทางขึ้นเขาหินปูน ไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของรองเท้านารี
The way to the natural habitat of Lady's slipper orchid in the limestone mountain of Thailand.

พอขึ้นไปเกือบถึงยอดเขาเจ้าหน้าที่ชี้ให้ดู ดอกเอื้องรงรอง (Panisia distelidia)กำลังออกดอก ก็ดีใจมาก ควักกล้องจากเป้หลังออกมาถ่ายรูป ก็ได้พักยาวหน่อย แล้วก็ไต่ขึ้นไปต่อด้วยขาสองขาที่บางครั้งต้องก้าวเหยียดออกไปจนสุดขา เพื่อให้พ้นร่องหิน มือทั้งสองก็ยืดออกไปเกาะชะง่อนหิน ทั้งกางแขนกางขาเคลื่อนไปอย่างทุลักทุเล พอไปถึงยอดเขาเทวดาโปรด ส่งลมเย็นๆ ผ่านมาพอสัมผัสกายที่โชกด้วยเหงือ ก็เย็นสบาย



เอื้องรงรอง (Panisia distelidia

บริเวณยอดเขามีต้นไม้ขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 5 เมตร ในป่าค่อนข้างโปร่ง ตามต้นไม้หลายต้นมีกล้วยไม้เอื้องรงรองขึ้นคลุมต้น เหมือนทำหน้าที่เป็นผ้าห่มให้ต้นไม้ พี่อู๊ด หนึ่งในผู้นำทางบอกว่า นี่แหละบ้านของเขา แล้วพอเดินไปสักพัก พี่อู๊ด ก็ชี้ไปที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ตรงลำต้นหลักที่แยกออกเป็นง่าม มีกอกล้วยไม้กอขนาดกลางกอหนึ่ง มันคือ กล้วยไม้รองเท้านารีหนวดฤาษี (Paphiopedilum parishii) แต่ผมก็ยังไม่ค่อยตื่นแต้นมากเท่าไร เพราะเคยเห็นกลุ่มประชากรรองเท้านารีชนิดนี้ในพื้นที่มาก่อนหน้านี้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งชนิดเป้าหมายที่จะทำการติดตามประชากร
พื้นที่ที่พอจะมีให้ยืนถ่ายรูปมันไม่มากนัก เพราะเป็นหินปูน บางทีขาของตัวเองมันสั่นพับๆ พับๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สั่งมันเลย ต่อจากนั้นก็เดินไปยังจุดเป้าหมาย ไม่นานนักก็ถึงบริเวณที่เป็นหน้าผาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นหน้าผาที่ดิ่งชันลงไป เกือบ 90 องศา ยังมีลมเย็นสบายอยู่เหมือนเดิม พี่ดอน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตะโกนเชิงหัวเราะดีใจที่ออกเหน่อๆ ว่า มานี่! รองเท้านารีออกดอก สวยมาก เมื่อเราเข้าไปดูปรากฏว่าเป็นรองเท้านารีเหลืองปราจีน (Paphiopedilum conconlor) ซึ่งเป็นฟอร์มที่นิยมเรียกว่า เหลืองกาญจน์ ผมไม่รอที่จะเดินไปตรงจุดนั้น ไปด้วยใจอันร่าเริงดั่งเลียงผากระโดดเล่นบนผาหิน แต่กายนี่ซิ เยี่ยงผู้เฒ่าทิ้งไม้เท้าคลานไปด้วยอาการมือจับหิน ขาก้าวเหยีบ เพื่อนำร่างราว 70 กิโลกรัม ไปให้ถึงจุดหมาย เมื่อเห็นกับตาแล้วเอนโดฟีนหลั่งออกมา ความหนุ่มก็กลับมาทันที มันเป็นความสุดยอดที่ได้เห็นดอกรองเท้านารีออกดอกในธรรมชาติ คนละอารมณ์กับการเห็นเขาออกดอกในกระถาง


รองเท้านารีเหลืองปราจีน (Paphiopedilum conconlor)

พี่อู๊ด เรียกผมให้ไปดูที่หน้าผาที่เขาเคยถ่ายรูปรองเท้านารีเวศย์วรุฒม์เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ซึ่งผมได้เห็นภาพมีดอกเกือบร้อยดอก อลังการมาก มันขึ้นอยู่เต็มหน้าผาในแนวตั้งดิ่งที่ได้รับแสงทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างเต็มที่ มีบ้างที่ขึ้นตามซอกหินในที่ค่อนข้างร่มและพบกระจายทั่วไป แต่บริเวณที่พบมากที่สุด คือ ผาหิน จากนั้นผมก็เริ่มหาดูว่ามันมีการผลิตฝักมากน้อยเพียงใด ที่เห็นมีร่องรอยของก้านดอกอยู่หลายก้าน ดูรวมๆ แล้ว ติดฝักประมาณ 20 ฝัก ซึ่งก็ไม่มากเท่าไร ส่วนต้นกล้าพบเจอได้ไม่มากนัก แต่ก็พอมี และเมื่อดูไปๆ ก็พบว่าหลายต้นมีใบรอยถูกตัด ผมสันนิษฐานว่าต้องมีตัวอะไรมากินมันแน่ จึงถามเจ้าหน้าที่ว่า ที่นี่มีเลียงผาไหม เขาบอกว่า โอ้ มีชุมเลยทีเดียว บางทียังเห็นตัวเลย ผมจึงเอ่ยขึ้นว่า เลียงผามากินใบรองเท้านารี เจ้าหน้าที่คนหนึ่งทำหน้าตกใจ มันกินด้วยเหรอ ผมตอบว่า ใช่ครับ ที่ภูหินร่องกล้า เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเลียงผากินรองเท้านารีอินทนนท์เหมือนกัน
สมาชิกในกลุ่มที่ไปด้วยกันครั้งนี้ ครึ่งหนึ่งยังไม่เคยเห็นรองเท้านารีที่ขึ้นตามธรรมชาติ ต่างพูดกันว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เห็นมันขึ้นในสภาพธรรมชาติอย่างนี้ พวกเราอยู่บริเวณนั้นประมาณ 15 นาที เมฆที่แอบตั้งเค้าระหว่างที่เราให้ความสนใจกับรองเท้านารี แปรเปลี่ยนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ให้มืดครึ้ม เราเริ่มรู้สึกตัวว่าฟ้าพิโรธ เมื่อลมแรงที่พัดโหมกระหน่ำอย่างน่ากลัว มันเกิดขึ้นเร็วมาก ต้นไม้ต่างไหวเอนในทิศทางต่างๆ ตามแต่ลมจะพาไป มันช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน ดูเหมือนเป็นสัญญานที่เทวดาแจ้งให้เราทราบว่า พอได้แล้ว กลับไปได้แล้ว!” แล้วฝนก็เริ่มโปรยปราย แต่ไม่หนักมาก พวกเราจึงรีบเดินกลับเส้นทางเดิมอย่างระมัดระวัง ปล่อยให้เทวดารักษาประชากรของรองเท้านารีชนิดนี้ต่อไป
ภูเขาหินปูนลูกนี้มีขนาดเล็ก โผล่ขึ้นมาเป็นลูกโดดๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเขาหินปูนที่ขึ้นกระจัดกระจายห่างๆ ในพื้นที่ นับว่ามันมีขนาดใหญ่กว่าลูกอื่นสักเล็กน้อย แต่สภาพป่าบนเขานั้นค่อนหนาแน่นกว่าเขาหินปูนลูกอื่น มีสภาพโปร่ง อากาศชื้นแต่มีลมพัดผ่าน ทำให้ไม่อับชื้นจนเกินไป บนยอดเขาที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000 เมตร จึงเป็นบ้านที่มีความสุขของรองเท้านารี และบนเขาลูกนี้ก็พบรองเท้านารีถึง ชนิด เลยทีเดียว
ด้วยความเป็นห่วงของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ ว่ากล้วยไม้รองเท้านารีเวศย์วรุฒม์ ที่พบแค่ประชากรเดียวนี้ จะหายไป ประกอบกับหลายต้นที่เจริญเติบโตบนผาหิน และมีการแตกกอหนาแน่น จนหลายต้นอาจหลุดหล่นและตายไปในภายหลัง จึงมีแนวคิดที่จะทำการย้ายต้นที่มีโอกาสตายไปไว้ที่ใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สำรวจในเบื้องต้นไว้แล้วว่าจะนำไปทดลองย้ายปลูกไว้ที่ใด แต่จะรอให้ผมและทีมงานไปดำเนินการ ซึ่งก็จะเป็นอีกงานหนึ่งที่ผมจะต้องดำเนินการ เพื่อช่วยชีวิตของเพื่อนร่วมโลกของเราชนิดนี้ให้คงอยู่ต่อไปอย่างมั่นใจ













ภาพรองเท้านารีเวศย์วรุฒม์เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว โดยพี่อู๊ดดี้
The pictures which were taken since September in the year before.




สภาพที่รองเท้านารีเวศย์วรุฒม์ ขึ้นตามธรรมชาติ

ฝักที่พบในพื้นที่ Capsule has been developed in the nature.

ต้นกล้าที่พบในพื้นที่ Seedling in the natural habitat.

รอยที่ถูกสัตว์กัดกิน คาดว่าน่าจะเป็นเลียงผา Their leaves have been observed that bitten by Serow, mountain goat.