Sunday, May 11, 2014

รองเท้านารี ในสภาพธรรมชาติ Paphiopedilum in natural habitat


นับตั้งแต่เริ่มทำงานด้านการสำรวจชนิดพันธุ์พืช ที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ มา 20 ปี ในฐานะนักพฤกษศาสตร์ มีเพียงไม่กี่ครั้งที่จะได้มีโอกาสพบเจอประชากรกล้วยไม้รองเท้านารี กล้วยไม้ยอดนิยมอันเป็นที่หมายปองของผู้คนที่รักต้นไม้จำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วผมจะพบเห็นกล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ในกระถางตามตลาดต้นไม้หรืองานประกวดต้นไม้ทั่วไป ซึ่งยอมรับว่าเป็นกล้วยไม้ที่ตรึงตราตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง โดยก่อนหน้านี้ผมเองก็ไม่คิดว่าจะมาสนใจศึกษากล้วยไม้เลย เนื่องจากคิดว่ามีคนสนใจกันเยอะแล้ว และเป็นพืชที่มีความสวยงามเกินกว่าที่ผมจะเอื้อมมือไปไขว่คว้า ชีวิตมาผกผันตอนที่ไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศเดนมาร์ก แล้วไม่มีหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ที่เหมาะสม จึงจับพลัดจับผลูไปทำวิจัยกล้วยไม้กับ ดร.Henrik Pedersen ผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้จากประเทศเดนมาร์ก บางครั้งเกิดความรู้สึกว่า กล้วยไม้ทำให้มีงานที่ต้องทำเยอะมาก และยิ่งศึกษากล้วยไม้นานวัน ก็ยิ่งมีอุปสรรคมากมาย เพราะเพื่อนร่วมโลกของเรากลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง หลายชนิดกำลังจะจากเราไปด้วยน้ำมือของเราเอง นั่นเป็นเพราะความสวยงาม คือ ภัยอันตรายที่ธรรมชาติกำหนดมาให้ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของผมเคยกล่าวไว้ว่า กล้วยไม้เป็นพืชที่มีกรรม ใครเห็นก็อยากเอาไปไว้ ด้วยความที่น่ารักและน่าสงสารของกล้วยไม้ งานที่ต้องเร่งทำ ก็คือ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของสวนพฤกษศาสตร์ หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่
รองเท้านารีเป็นกล้วยไม้กลุ่มอันดับต้นๆ ที่ต้องได้รับการใส่ใจในการอนุรักษ์ เพราะมันกำลังถูกคุกคามจากปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติ และการนำออกจากป่าในปริมาณมากเกินไป แม้ว่าผมจะสนใจศึกษางานวิชาการด้านชีววิทยาเพื่อการอนุรักษ์ ผมก็ยังไม่กล้าที่จะทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับรองเท้านารีในสภาพธรรมชาติ เพราะการติดตามเก็บข้อมูลทางชีววิทยาของประชากรในป่านั้น ต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลนานนับปี เพื่อให้เข้าใจรูปแบบการดำรงชีวิตของมัน เหตุผลที่ผมกลัวก็คือ เมื่อวางแปลงศึกษาแล้ว มันอาจหายไประหว่างที่ทำการศึกษา ทำให้โครงการวิจัยที่ได้งบประมาณมาดำเนินการอาจไม่จบและมีปัญหา และปัญหานี้ผู้เชี่ยวชาญด้านรองเท้านารีท่านหนึ่งก็เคยประสบมาแล้ว เจ้าหน้าที่อนุรักษ์จึงมักจะไม่ระบุพื้นที่ๆ พบในธรรมชาติกัน เพื่อเป็นการปกป้องชนิดพันธุ์ในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว คือ การฟื้นฟูจำนวนประชากรและเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม และส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนโดยไม่รบกวนประชากรธรรมชาติ


รองเท้านารีเหลืองกระบี่ (Paphiopedilum exul) ที่มีการพัฒนาพันธุ์ให้สวยงาม ในงานประกวดกล้วยไม้
Lady's slipper orchids (Paphiopedilum exul) which had been selected for ornamental purpose in flower show festival in Thailand.

ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่อนุรักษ์และนักอนุรักษ์สมัครเล่น เชื้อชวนให้ผมไปดูประชากรรองเท้านารีเวศย์วรุฒม์ในสภาพธรรมชาติที่จังหวัดตาก เพื่อไปเก็บข้อมูลทางชีววิทยา และหาทางเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้น ด้วยความเป็นห่วงว่าจะหายไป เพราะมีเพียงประชากรเดียวที่พบอยู่ในปัจจุบัน จึงได้ร่วมทีมกับเขาไปบุกป่าฝ่าดง และนำมาเล่าสู่กันฟัง
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากเห็น คือ ฝักของรองเท้านารี เพื่อจะได้ดูว่าในประชากรนี้มีการผลิตฝักปริมาณมากน้อยเพียงใด มีโอกาสสร้างลูกสร้างหลานสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมันได้ไหม และมีต้นกล้าขึ้นเองในธรรมชาติบ้างหรือเปล่า เหล่านี้ คือ ดัชนีชี้ความอุดมสมบูรณ์ของประชากร แตกต่างจากคนอื่นที่ชื่นมื่นกับการที่ได้เห็นดอก แต่สำหรับนักวิชาการด้านการอนุรักษ์จะดีใจมากที่ได้เห็นฝักจำนวนมากและมีต้นกล้าขึ้นมาทดแทน
บ่ายวันร้อนอบอ้าว ในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พาพวกเราไปถึงจุดที่จะปีนเขาหินปูน เพื่อขึ้นไปดูประชากร โดยเตือนก่อนว่า ช่วงนี้ฝนตกทุกวันช่วงบ่าย และลมแรงด้วย ที่หนักใจก็ คือ ประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเขาหินปูน เพราะเคยพลัดตกลงมาหัวแตกที่ดอยเชียงดาวเมื่อหลายปีก่อน แต่ในเมื่อคิดจะไปแล้วก็คงไม่ท้อ ใจน่ะไปอยู่ที่ที่ต้นรองเท้านารีแล้วทั้งที่ยังไม่เริ่มเดิน ช่วงที่ยากที่สุด คือ ตอนที่ปีนหินปูนขึ้นไป แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ตอนลงยากกว่าอีก ผมทำได้ดีที่สุด คือ คิดถึงปัจจุบัน จะกลับก็กลับไม่ได้แล้ว แถมยังคิดอีกว่า มาทำไมเนี๊ยะ นั่งในห้องแอร์ดีๆ ไม่ชอบ แค่เดินขึ้น 10 เมตร 15 เมตร ก็ต้องหยุดพักแล้ว มันเหมือนหายใจไม่ทัน ใจจะขาดน่ะ แบกเป้ที่ใส่อุปกรณ์กล้องที่หนักไม่น้อย เหงือท่วมตัวเลยที่เดียว ทั้งแสบตา แล้วก็เหมือนได้กินเกลือตลอดเวลา เนื่องเพราะเหงื่อที่ไหลลงมาที่ปาก แถมต้องถอดแว่นออกมาเช็ดหยดเหงือบ่อยครั้ง โชคดีที่เจ้าหน้าที่ช่วยถือขาตั้งกล้องให้ จึงได้ใช้มือเกาะหินปูนไต่ขึ้นไปอย่างสะดวด แต่ก็ทำเป็นดูต้นไม้ต้นโน้นต้นนี้ แอบหายใจเบาๆ แต่บางครั้งก็หลุดออกมาดังฟู่ยาวๆ หลายครั้ง ก็มันเหนื่อยน่ะ

ทางขึ้นเขาหินปูน ไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของรองเท้านารี
The way to the natural habitat of Lady's slipper orchid in the limestone mountain of Thailand.

พอขึ้นไปเกือบถึงยอดเขาเจ้าหน้าที่ชี้ให้ดู ดอกเอื้องรงรอง (Panisia distelidia)กำลังออกดอก ก็ดีใจมาก ควักกล้องจากเป้หลังออกมาถ่ายรูป ก็ได้พักยาวหน่อย แล้วก็ไต่ขึ้นไปต่อด้วยขาสองขาที่บางครั้งต้องก้าวเหยียดออกไปจนสุดขา เพื่อให้พ้นร่องหิน มือทั้งสองก็ยืดออกไปเกาะชะง่อนหิน ทั้งกางแขนกางขาเคลื่อนไปอย่างทุลักทุเล พอไปถึงยอดเขาเทวดาโปรด ส่งลมเย็นๆ ผ่านมาพอสัมผัสกายที่โชกด้วยเหงือ ก็เย็นสบาย



เอื้องรงรอง (Panisia distelidia

บริเวณยอดเขามีต้นไม้ขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 5 เมตร ในป่าค่อนข้างโปร่ง ตามต้นไม้หลายต้นมีกล้วยไม้เอื้องรงรองขึ้นคลุมต้น เหมือนทำหน้าที่เป็นผ้าห่มให้ต้นไม้ พี่อู๊ด หนึ่งในผู้นำทางบอกว่า นี่แหละบ้านของเขา แล้วพอเดินไปสักพัก พี่อู๊ด ก็ชี้ไปที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ตรงลำต้นหลักที่แยกออกเป็นง่าม มีกอกล้วยไม้กอขนาดกลางกอหนึ่ง มันคือ กล้วยไม้รองเท้านารีหนวดฤาษี (Paphiopedilum parishii) แต่ผมก็ยังไม่ค่อยตื่นแต้นมากเท่าไร เพราะเคยเห็นกลุ่มประชากรรองเท้านารีชนิดนี้ในพื้นที่มาก่อนหน้านี้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งชนิดเป้าหมายที่จะทำการติดตามประชากร
พื้นที่ที่พอจะมีให้ยืนถ่ายรูปมันไม่มากนัก เพราะเป็นหินปูน บางทีขาของตัวเองมันสั่นพับๆ พับๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สั่งมันเลย ต่อจากนั้นก็เดินไปยังจุดเป้าหมาย ไม่นานนักก็ถึงบริเวณที่เป็นหน้าผาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นหน้าผาที่ดิ่งชันลงไป เกือบ 90 องศา ยังมีลมเย็นสบายอยู่เหมือนเดิม พี่ดอน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตะโกนเชิงหัวเราะดีใจที่ออกเหน่อๆ ว่า มานี่! รองเท้านารีออกดอก สวยมาก เมื่อเราเข้าไปดูปรากฏว่าเป็นรองเท้านารีเหลืองปราจีน (Paphiopedilum conconlor) ซึ่งเป็นฟอร์มที่นิยมเรียกว่า เหลืองกาญจน์ ผมไม่รอที่จะเดินไปตรงจุดนั้น ไปด้วยใจอันร่าเริงดั่งเลียงผากระโดดเล่นบนผาหิน แต่กายนี่ซิ เยี่ยงผู้เฒ่าทิ้งไม้เท้าคลานไปด้วยอาการมือจับหิน ขาก้าวเหยีบ เพื่อนำร่างราว 70 กิโลกรัม ไปให้ถึงจุดหมาย เมื่อเห็นกับตาแล้วเอนโดฟีนหลั่งออกมา ความหนุ่มก็กลับมาทันที มันเป็นความสุดยอดที่ได้เห็นดอกรองเท้านารีออกดอกในธรรมชาติ คนละอารมณ์กับการเห็นเขาออกดอกในกระถาง


รองเท้านารีเหลืองปราจีน (Paphiopedilum conconlor)

พี่อู๊ด เรียกผมให้ไปดูที่หน้าผาที่เขาเคยถ่ายรูปรองเท้านารีเวศย์วรุฒม์เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ซึ่งผมได้เห็นภาพมีดอกเกือบร้อยดอก อลังการมาก มันขึ้นอยู่เต็มหน้าผาในแนวตั้งดิ่งที่ได้รับแสงทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างเต็มที่ มีบ้างที่ขึ้นตามซอกหินในที่ค่อนข้างร่มและพบกระจายทั่วไป แต่บริเวณที่พบมากที่สุด คือ ผาหิน จากนั้นผมก็เริ่มหาดูว่ามันมีการผลิตฝักมากน้อยเพียงใด ที่เห็นมีร่องรอยของก้านดอกอยู่หลายก้าน ดูรวมๆ แล้ว ติดฝักประมาณ 20 ฝัก ซึ่งก็ไม่มากเท่าไร ส่วนต้นกล้าพบเจอได้ไม่มากนัก แต่ก็พอมี และเมื่อดูไปๆ ก็พบว่าหลายต้นมีใบรอยถูกตัด ผมสันนิษฐานว่าต้องมีตัวอะไรมากินมันแน่ จึงถามเจ้าหน้าที่ว่า ที่นี่มีเลียงผาไหม เขาบอกว่า โอ้ มีชุมเลยทีเดียว บางทียังเห็นตัวเลย ผมจึงเอ่ยขึ้นว่า เลียงผามากินใบรองเท้านารี เจ้าหน้าที่คนหนึ่งทำหน้าตกใจ มันกินด้วยเหรอ ผมตอบว่า ใช่ครับ ที่ภูหินร่องกล้า เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเลียงผากินรองเท้านารีอินทนนท์เหมือนกัน
สมาชิกในกลุ่มที่ไปด้วยกันครั้งนี้ ครึ่งหนึ่งยังไม่เคยเห็นรองเท้านารีที่ขึ้นตามธรรมชาติ ต่างพูดกันว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เห็นมันขึ้นในสภาพธรรมชาติอย่างนี้ พวกเราอยู่บริเวณนั้นประมาณ 15 นาที เมฆที่แอบตั้งเค้าระหว่างที่เราให้ความสนใจกับรองเท้านารี แปรเปลี่ยนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ให้มืดครึ้ม เราเริ่มรู้สึกตัวว่าฟ้าพิโรธ เมื่อลมแรงที่พัดโหมกระหน่ำอย่างน่ากลัว มันเกิดขึ้นเร็วมาก ต้นไม้ต่างไหวเอนในทิศทางต่างๆ ตามแต่ลมจะพาไป มันช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน ดูเหมือนเป็นสัญญานที่เทวดาแจ้งให้เราทราบว่า พอได้แล้ว กลับไปได้แล้ว!” แล้วฝนก็เริ่มโปรยปราย แต่ไม่หนักมาก พวกเราจึงรีบเดินกลับเส้นทางเดิมอย่างระมัดระวัง ปล่อยให้เทวดารักษาประชากรของรองเท้านารีชนิดนี้ต่อไป
ภูเขาหินปูนลูกนี้มีขนาดเล็ก โผล่ขึ้นมาเป็นลูกโดดๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเขาหินปูนที่ขึ้นกระจัดกระจายห่างๆ ในพื้นที่ นับว่ามันมีขนาดใหญ่กว่าลูกอื่นสักเล็กน้อย แต่สภาพป่าบนเขานั้นค่อนหนาแน่นกว่าเขาหินปูนลูกอื่น มีสภาพโปร่ง อากาศชื้นแต่มีลมพัดผ่าน ทำให้ไม่อับชื้นจนเกินไป บนยอดเขาที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,000 เมตร จึงเป็นบ้านที่มีความสุขของรองเท้านารี และบนเขาลูกนี้ก็พบรองเท้านารีถึง ชนิด เลยทีเดียว
ด้วยความเป็นห่วงของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ ว่ากล้วยไม้รองเท้านารีเวศย์วรุฒม์ ที่พบแค่ประชากรเดียวนี้ จะหายไป ประกอบกับหลายต้นที่เจริญเติบโตบนผาหิน และมีการแตกกอหนาแน่น จนหลายต้นอาจหลุดหล่นและตายไปในภายหลัง จึงมีแนวคิดที่จะทำการย้ายต้นที่มีโอกาสตายไปไว้ที่ใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สำรวจในเบื้องต้นไว้แล้วว่าจะนำไปทดลองย้ายปลูกไว้ที่ใด แต่จะรอให้ผมและทีมงานไปดำเนินการ ซึ่งก็จะเป็นอีกงานหนึ่งที่ผมจะต้องดำเนินการ เพื่อช่วยชีวิตของเพื่อนร่วมโลกของเราชนิดนี้ให้คงอยู่ต่อไปอย่างมั่นใจ













ภาพรองเท้านารีเวศย์วรุฒม์เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว โดยพี่อู๊ดดี้
The pictures which were taken since September in the year before.




สภาพที่รองเท้านารีเวศย์วรุฒม์ ขึ้นตามธรรมชาติ

ฝักที่พบในพื้นที่ Capsule has been developed in the nature.

ต้นกล้าที่พบในพื้นที่ Seedling in the natural habitat.

รอยที่ถูกสัตว์กัดกิน คาดว่าน่าจะเป็นเลียงผา Their leaves have been observed that bitten by Serow, mountain goat.


Tuesday, April 22, 2014

ฝรั่งดูกล้วยไม้ในป่า

สมาคมกล้วยไม้จากประเทศฝรั่งเศส เดินทางมาดูกล้วยไม้ในสภาพธรรมชาติของไทย เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ ผมมีโอกาสเป็นวิทยากร รู้สึกประทับใจนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาก เขาต้องการดูกล้วยไม้ในสภาพธรรมชาติเท่านั้น แม่ต้นที่ไม่ออกดอกเขาก็ดูกัน จะชวนเขาไปดูกล้วยไม้ดอกสวยๆ ที่ สวนกล้วยไม้เขาก็ไม่ไป เขาต้องการเห็นในธรรมชาติ เพื่อจะได้ดูว่ากล้วยไม้เขตร้อนมันมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร จะได้เอาไปปรับใช้กับการปลูกเลี้ยงในโรงเรือนที่บ้านเขาซึ่งเป็นเขตหนาว ทางบริษัททัวร์ได้นำกล้องดูนกไปด้วย แต่ใช้สำหรับกล้วยไม้ เมื่อใดก็ตามที่ผมบอกว่ากล้วยไม้กำลังออกดอกแต่ไกล พี่ที่เป็นไกด์จะตั้งกล้องให้ทุกคนดู ซึ่งจะต่อคิวกันอย่างเป็นระเบียบ บางคนเห็นกล้วยไม้ที่ตนชื่นชอบกำลังออกดอก ขนลุกขนพองเลยทีเดียว แล้วนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้รักษ์ธรรมชาติมาก เขาจะไม่นำกล้วยไม้ป่าออกไปเลย แถมยังช่วยกันนำกล้วยไม้ที่หล่นไปติดกับต้นไม้อีก เขาสนใจเฉพาะกล้วยไม้ขวด แน่นอนมันไม่คุ้มกับการถูกจับที่ด่านตรวจ อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้น่านำมาขยายผลด้านการท่องเที่ยวใช่ไหมครั้บ


เรียงแถวกันเพื่อรอดูกล้วยไม้ที่กำลังออกดอกบนยอดไม้ บางคนก็จับกลุ่มคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้



กะเรกะร่อน Cymbidium bicolor ที่ใช้กล้องถ่ายจากกล้องดูนก



เอื้องแปรงสีพัน Dendrobium secundum (secundum แปลว่า เรียงในแนวเดียวกันด้านในด้านหนึ่ง)

บันทึกการสำรวจฟ้ามุ่ย


                ครั้งนี้ผมจะมาเล่าเรื่องสุดยอดของความโหดในการสำรวจกล้วยไม้ฟ้ามุ่ย ที่อ.แม่แจ่ม ระหว่างต้นเดือนกันยายน 2552 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ไม่ไปก็ไม่ได้ เพราะต้องไปเก็บข้อมูลการออกดอกติดฝักของฟ้ามุ่ยในแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ จะไปที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะทราบมาว่าที่นั่นมีฟ้ามุ่ยหนาแน่น เท่าที่ทำงานสำรวจมา 16 ปี ไม่เคยเจอที่ไหนที่เห็นฟ้ามุ่ยในป่าที่หนาแน่นมาก่อน จะไปหน้าแล้งถนนแห้งๆ ก็ไม่ได้ เพราะฟ้ามุ่ยออกดอกติดฝักหน้าฝนพอดี สรุปว่ายังไงเราก็ต้องไป



(กระท่อมน้อยของพี่น้องชาวกระเหรี่ยงที่เราใช้พักระหว่างสำรวจ)
เราเลือกไปในช่วงที่ดอกฟ้ามุ่ยเหี่ยวหมดและติดฝัก เราจะได้ไปเพียงครั้งเดียว เพราะว่าเราพอจะนับร่องรอยที่ดอกหล่นไปได้ โดยการดูที่ก้านช่อดอกของฟ้ามุ่ย ตรงจุดที่ดอกออก จะมีรอยบุ่มและมีกาบประดับดอกเล็กๆ ติดอยู่ชัดเจนแม้ว่าดอกจะร่วงไปแล้ว และแกนช่อดอกจะไม่ยืดตรง มันจะเป็นแกนซิกแซ๊ก จุดที่ดอกออกมาจะอยู่ที่มุมของส่วนที่ซิกแซ๊ก ทำให้เราสามารถส่องกล้องมองเห็นช่อดอก และนับจำนวนดอกที่ผลิตในฤดูการนี้ได้ ส่วนดอกที่พัฒนาเป็นฝักยิ่งเห็นได้ชัดมาก เพราะฝักของฟ้ามุ่ยใหญ่มาก
ก่อนหน้านี้ผมส่งผู้ช่วยซึ่งเป็นคนปากะยอหรือคนกะเหรี่ยง ไปสำรวจเบื้องต้นก่อน เขากลับมารายงานว่าเจอฟ้ามุ่ยเยอะแยะเลย ผมต้องรีบไปด่วน เขาบอกว่าทางลำบากนะพี่ ต้องใช้มอเตอร์ไซด์ขับไปประมาณ 2 ชั่วโมง ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียด้วย
เราเดินทางไปที่ตำบลวัดจันทร์ เพื่อเข้าไปสำรวจแหล่งที่อยู่ของฟ้ามุ่ย ที่ใกล้ๆ กับตำบลวัดจันทร์ วิทย์ผู้ช่วยผมหามอเตอร์ไซด์มา 1 คัน เพื่อขับไปที่นั่น ถนนหนทางเป็นถนนลูกรังเกือบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณใกล้หมู่บ้านที่เป็นถนนปูน วันแรกของการสำรวจเราขี่มอเตอร์ไซด์ ไปบนถนนที่ฝนพึ่งจะหยุดตก ผมก็ไม่รู้ว่าปลายทางเป็นอย่างไร ได้แต่นั่งเฉยๆ ไม่ทำตัวเกร็ง ให้รถเสียหลัก แต่ก็ไม่วายครับพี่น้อง ล้อข้างหลังมันเหมือนจะวิ่งแซงล้อหน้าอยู่ตลอดเวลา เพราะมอเตอร์ไซด์มันขับเคลื่อนล้อหลังครับ เราอาจจะเรียกว่าขับเคลื่อนหนึ่งล้อก็ไม่ผิดครับบางจังหวะคนขับต้องให้อีกขาข้างซ้าย คอยพยุงหรือถีบไปข้างหน้าช่วยให้รถเดินไปข้างหน้า เมื่อขับผ่านแอ่งดินเลนเละๆ อาจจะเรียกว่าขับเคลื่อนสองล้อก็ได้ เพราะขาอีกหนึ่งข้างของคนขับทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งล้อครับ และบางทีผมก็ต้องใช้สองขาของผมช่วยถีบอีกสองแรง รวมเป็นขับเคลื่อนสี่ล้อเหมือนกัน แต่ถ้าตอนขึ้นเนินสี่ขาของเราทั่งคู่และหนึ่งล้อจริงช่วยกันเป็นห้าแรงครับพี่น้อง ผมเรียกว่าขับเคลื่อนห้าล้อครับพี่น้อง กว่าจะถึงที่หมายครับสะบักสะบอม ทั้งคนทั้งรถครับ
สำหรับแหล่งที่อยู่ของฟ้ามุ่ยที่แรก เราต้องเดินเข้าไปอีก 1.5 กม. ทางเข้าป่า เราแวะพักที่กระท่อมน้อยบ้านคุณลุงชาวปากะยอ เพื่อบอกเขาสักหน่อยว่าเราจะเข้าพื้นที่ป่าแถวนั้น ผู้ช่วยผมเขาก็ว่ากันไปตามภาษาของเขา ผมเองก็ฟังไม่เข้าใจ ได้แต่มองไปรอบๆ ที่เป็นทุ่งนา และสวนที่ปลูกต้นสาลี่ดอยและลูกพลับ ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบมีภูเขาโอบล้อมทั้งสามด้าน สงบเงียบ ผมละอิจฉาคุณลุงเสียจริง บรรยากาศสุดยอด คุณลุงอยู่แต่ที่นั่นไม่ยอมออกไปไหนเลย
เนื่องจากเราเข้าพื้นที่ตอนเย็นแล้ว จึงทำอะไรไม่ได้มาก ฝนก็เทลงมาเสียด้วย มองไม่เห็นอะไรเลย ไม่กล้าเอากล้องส่องทางไกลออกมาด้วย เพราะยืมเขามาและกลัวพังเสียก่อน พอดีเหลือบไปเห็นต้นไม้ล้มหนึ่งต้น เป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่ในวงศ์เข็ม เมื่อไปสำรวจดูเห็นต้นกล้าฟ้ามุ่ยต้นจิ๋วๆ ไม่ต่ำกว่า 10 กล้า แสดงว่า ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้ก็สามารถอยู่ได้ แต่ถ้าเอาต้นใหญ่ออกไปหมด กล้วยไม้ก็....ใกล้ม้วยเช่นกัน
 
(มอเตอร์ไซด์ที่เราใช้ขึ้นดอย)


วันต่อมา วิทย์จัดหามอเตอร์ไซด์ยี่ห้อฮอนด้า 2 คัน ผมนั่งคันที่วิทย์ขับ พี่พิชัยขับอีกหนึ่งคัน เป้าหมายแรกคือ บ้านคนนำทาง พี่มานพ ซึ่งพี่เขาก็ขับรถฮอนด้าดรีมไปอีก 1 คัน เป้าหมายที่สอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ผมทำตัวเช่นเคยคือ นั่งเฉยๆ โดยไม่เกร็ง แต่วันนี้ขึ้นดอยชันมาก แค่ขึ้นถึงกลางเนินผมจำเป็นต้องกระโดดลงเดินทุกที เพราะพี่ฮอนด้าคันที่ผมนั่งมานี้เขาแรงไม่ค่อยดี รับน้ำหนักไม่ไหว ล้อหมุนฟรีกลางเนินอยู่ร่ำไป และวิทย์ต้องเร่งเครื่องแล้วลงเข็นไปพร้อมๆ กัน เป็นการขับเคลื่อน 3 ล้อครับ ส่วนผมทั้งเหนื่อยและเมื่อย เมื่อต้องถูกบังคับให้เดินขึ้นดอย จะกลับก็ไม่ได้เสียแล้ว ในใจก็บ่นว่า มาลำบากทำไมเนี๊ยะ ทำไมไม่อยู่บ้านนอนให้สบายในวันหยุด
ทางที่ไปมีทั้งขึ้นและลงสลับกันไป แต่ยอดดอยสุดท้ายนี่สูงชันมาก เมื่อขึ้นแล้วก็ต้องลง ตอนลงดอยสุดท้าย ผมต้องลงเดินอีกเช่นกัน แต่เดินลงนี่ไม่เหนื่อยเท่าไร ในที่สุดเราก็ถึงที่พัก ลักษณะบ้านเป็นบ้านสองชั้น ยกสูง ขึ้นบ้านด้วยบันไดไม้ไผ่ พอถึงกระท่อมหลังนั้น พี่มานพก็บอกให้เราพักกันก่อน เขาต้มน้ำชาให้พวกเราดื่ม หลังจากนั้นเราก็ตัดสินใจกินข้าวเที่ยงกัน ก่อนเข้าไปทำงานในป่า 
ลักษณะของบ้านเป็นเรือนยกสูง บนบ้านเป็นห้องโถงห้องเดียว มีชานบ้าน และในโถงมีที่ก่อกองไฟสำหรับหุงต้มอาหาร พื้นบ้านและฝาบ้านทำด้วยฟากไม้ไผ่หก ข้างบนที่หุงต้มมีชั้นไม้เอาไว้วางเมล็ดพันธุ์พืช และอาหาร ด้านล่างข้างที่ก่อไฟ มีครกไม้ที่มีด้ามจับและสากวางไว้ ซึ่งถูกใช้จนเป็นสีดำ ไม่นานนักพี่มานพก็ต้มชาเสร็จ นำมาเสริฟด้วยกาน้ำที่ถูกใช้งานมานาน จนมีสีดำสนิดและมีรอยบุบเต็มไปหมด เขาค่อยๆ รินใส่แก้วที่ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่หก คลาสสิกอย่าบอกใครเชียว เวลาดื่มชา เขาใส่เกลือลงไปเล็กน้อยให้ได้รสชาด
                แล้วเราก็เดินผ่านไร่ชาวบ้านเข้าไปที่แหล่งฟ้ามุ่ยธรรมชาติ วิทย์ได้เคยมาที่นี่แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม ตอนฟ้ามุ่ยออกดอก และติดหมายเลขต้นไม้ไว้ คราวนี้ผมมาส่องกล้องนับจำนวนดอกและฝัก และวาดภาพต้นไม้ที่มันเกาะ เพื่อจะได้ใส่จุดลงไปว่าฟ้ามุ่ยแต่ละหมายเลขอยู่บริเวณกิ่งไหนในภาพวาด เพื่อจะได้ตามมาเก็บในฤดูกาลต่อไป มันเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยครับ ผมส่องกล้องจนตาแทบถลนออกจากเบ้าตา โชคดีที่พี่พิชัยไปด้วย จึงให้พี่เขาปีนขึ้นไปดูใกล้ๆ บนต้นที่กิ่งก้านหนาทึบและถูกบังด้วยใบไม้ ทำให้เก็บข้อมูลได้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น จากนั้นเราก็วางแปลงบริเวณที่ฟ้ามุ่ยขึ้นหนาแน่นที่สุด หนึ่งแปลง ขนาด 50x50 เมตร เพื่อจะดูว่าไม้ใหญ่ต้นไหนมีฟ้ามุ่ยเกาะหรือต้นไหนไม่มี เราทำงานเก็บข้อมูลได้ครึ่งวัน ประมาณบ่ายสี่โมงฝนก็เทลงมา เราจึงต้องหยุด แล้วเดินไปที่กระท่อมที่พัก


(พี่พิชัยช่วยปีนขึ้นไปนับจำนวนดอกและฝักบนต้นไม้)
พอถึงกระท่อม ปรากฏว่าเจ้าของบ้านทั้งหมด 5 คน มาอยู่ในกระท่อมแล้ว ผมก็ไม่ทราบมาก่อน เพราะให้ลูกน้องติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านไปตามลำพัง เมื่อทราบว่าเจ้าของกระท่อมอาศัยอยู่ จึงขออนุญาตเขาพักด้วย แม่บ้านชาวกระเหรี่ยงทำอาหารเย็นให้เรากินกัน และเอาอาหารของเราสมทบด้วย เมนูนะหรือ มีปลากระป๋อง มาม่า ของเขามีปลาทูเค็มทอด แค่นี้นะเวลากินในป่ามันสุดยอดจริงๆ


(ช่วยกันทำกับข้าว อาหารเย็นอีกมื้อหนึ่งที่สุดยอด)
กินเสร็จก็คุยกัน ระหว่างนั้นชาวบ้านเอาข้าวโพดสาลี มาปิ้ง และเอาเมล็ดก่อแป้นมาคั่ว เป็นอาหารว่าง มีเพียงผมที่ตลกรับประทาน คนเดียวอย่างอิ่มหนำสำราญ ก็ไม่เคยกินข้าวโพดที่พึ่งหักมาจากต้นแล้วเอามาย่าง มันหวานมาก นับได้ว่าไม่เคยกินข้าวโพดสาลีที่หวานแบบนี้มาก่อน ส่วนพี่ๆ ชาวกระเหรี่ยงนั่งสูบบุหรี่ขี้โย ใช้ใบตองกล้วยมามวนยาสูบ แล้วเอาแก่นไม้จำปีป่า (Michelia sp.) มาขูดด้วยมีดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับยาสูบ เป็นภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์ที่ผมยังไม่เคยเห็นมาก่อน


(ข้าวสาลีหรือข้าวโพดเหนียวและก่อแป้น)



(แก่นจำปีที่นำมาใส่ในบุหรี่)
ขอฝากข้อมูลภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากพืชของชาวกระเหรี่ยงที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาใช้หัวเอื้องดิน (Spathoglottis pubescens) ซึ่งเป็นกล้วยไม้ดินที่มีดอกสีเหลือง เอามากินกับหมาก เขาบิเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเคี้ยวกินกับหมาก ผมถามเขาว่า เพื่ออะไร เขาบอกว่าใส่แล้วกินหมากอร่อยขึ้น ผมลองกินด้วยแต่ไม่เห็นจะอร่อยแบบที่เขาว่าเลย
บรรยากาศในค่ำคืนนั้นช่างวิเศษเสียเหลือเกิน เขาใช้ไม้สนหรือไม้เกี๊ยะมาเผาให้แสงสว่าง เพราะไม้สนหาได้ง่ายมาก พี่พิชัยบอกว่า หนึ่งท่อนที่เขาเอามาเผานั้น ที่แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขายท่อนละ 20 บาท ภายใน 40 นาทีเขาเผาไปแล้ว 10 ท่อน ถ้าคิดเป็นเงินที่แม่ริมก็ 200 บาท แต่สำหรับในป่านั้นมันมีอยู่มากมาย และเขาก็ไม่ต้องเสียตังค์ในการหามา


เราคุยกันหลายเรื่อง ผมจะเข้าใจก็ต่อเมื่อวิทย์ คอยเป็นล่ามแปรให้ เรื่องหนึ่งที่น่าบันทึกไว้ คือ ในอดีต พ่อของวิทย์ เดินจากวัดจันทร์ ไปสะเมิง ระยะทาง 97 กม. ใช้เวลา 2 วัน เพื่อเอาเนื้อเก้งไปแลกกับปลาทูเค็ม เมื่อก่อนเก้งเยอะมาก มันชอบมากินพืชผลที่ปลูกไว้ เพราะไร่นาของชาวบ้านอยู่ใกล้กับป่า ชาวกระเหรี่ยงเอาไปแลกอาหารกับชาวเมือง วิทย์บอกว่าตอนเด็กๆ เขาชอบกินปลาทูเค็มมาก ผิดกับที่บ้านผมที่เมืองจันท์ ปลาทูสดสมัยผมเด็กๆ กิโลละ 5 บาท สรุปว่าการใช้ชีวิตของชาวกระเหรี่ยงที่อยู่ในป่า เป็นการใช้ชีวิตที่พึงพาความหลากหลายทางชีวภาพ หรือความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้นั่นเอง
ตื่นเช้าน้องชายชาวกระเหรี่ยง เดินเข้าป่าไปเก็บเห็ดมาหนึ่งหม้อ มีมากกว่า 3 อย่าง เราได้กินต้มเห็ดเป็นอาหารเช้า อร่อยมาก
จากนั้นเราก็เดินเข้าพื้นที่เก็บข้อมูลกล้วยไม้ต่อ ประมาณ 11.00 น. ระหว่างที่พี่พิชัยอยู่บนยอดไม้ ได้ตะโกนบอกเราที่อยู่ข้างล่างว่านกเงือก พี่ นกเงือกผมฟังแล้ว ตอนแรกก็ไม่เชื่อ เพราะคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ พอดีมันบินมา 5 ตัว โดยบินมาที่ละตัว จึงมีโอกาสเห็นตัวสุดท้ายด้วยตาของผมเอง มันบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าในอำเภอแม่แจ่ม และผมเคยได้ยินมาว่าชาวกระเหรี่ยงไม่ล่านกเงือก พอสอบถามเขาก็เล่านิทานพื้นบ้านให้ฟัง ว่า เมื่อก่อนมีสองสามีภรรยา สามีชอบไปกินเหล้าทุกเย็น วันหนึ่งกลับมาบ้าน ภรรยาโกรธ ไม่ยอมเปิดประตูบ้านให้ สามีเคาะเท่าไรก็ไม่ยอมเปิด สามีจึงคาบมีด กระโดดลงมามีปักเสียบหัวตาย กลายเป็นนกเงือก ผมก็เลยนึกจินตนาตามที่เขาเล่า ก็ถึงบางอ้อว่าทำไมนกเงือกมีหงอนแข็งลักษณะคล้ายใบมีดอยู่ที่หัว ดังนั้นชาวกระเหรียงไม่กินนกเงือก เพราะถือว่าเป็นตัวอย่างไม่ดี ไม่เป็นมงคล กินไปแล้วกลัวว่าครอบครัวจะไม่เป็นสุข
เมื่อเราคิดว่าจะกลับออกไป มันก็มีความคิดหนึ่งแทรกเข้ามาว่า ไม่อยากกลับเลย ท้อใจ เนินแรกจากบ้าน วิทย์ก็ไปได้แค่ครึ่งทาง ผมก็ต้องช่วยดันรถเสียแล้ว กางเกงผมถูกขี้ดินกระเด็นใส่ตอนที่ล้อรถหมุนฟรีแล้วปัดขี้ดินมาที่กางเกงผม ผมบอกกับวิทย์ว่า ผมขับเอง แต่มีวิทย์ช่วยดัน แล้วผมก็ผ่านเนินแรกไปได้ วิทย์บอกว่าถ้าลูกพี่ขี่เก่งอย่างนี้ให้ขี่ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว
พี่น้องครับ ขับมอเตอร์ไซด์บนดอยครั้งนี้ นี่จะบอกให้ว่ามันทรมานมากครับ ถ้าไม่เดินหน้าต่อเดี๋ยวจะเสียความเป็นผู้นำครับ ผมบอกลูกน้องว่า เฮ้ย! นั่งต่อได้ไม่ต้องลง ผมขับได้ พอขับลงทางชัน ตรงที่ดินเป็นดินลูกรังผสมดินเหนียวอัดแน่น แม่เจ้าโวย! มันลื่นครับ ล้อข้างหลังมันปัด แล้วเราก็ล้มลงครับ เข่าไปกระแทกกับแฮนด์ จนเจ็บเข้าไปในทรวง หายใจไม่ออกเลย
เท่านั้นยังไม่พอ อีตอนที่ท้ายรถมันปัดนะครับพี่น้อง มันพากล้ามเนื้อที่ก้นข้างหนึ่งไปด้วย แม่เจ้าโว๊ย! เจ็บยิ่งกว่าเจ็บเสียอีก จะยกตัวขึ้นก็ไม่ได้รถมันจะเสียหลัก ทำได้อย่างเดียวครับเกร็งสู้ ในใจนึกขึ้นมาเลย สู้โว๊ย! แล้วตอนที่ทางขึ้นยาวๆ ลงยาวๆ ลูกน้องผมกระโดดลงทุกที ตั้งแต่ผมพาเขากลิ้งครั้งแรกแล้ว เขาก็บอกผมว่า ไม่เอาแล้วเดินดีกว่า หัวใจผมจะวายพี่ แถมยังบอกผมว่า พี่อย่ามองไกลนะ มองใกล้ๆ ก็พอนะพี่ จะได้มีกำลังใจ
ในที่สุดเราก็ผ่านด่านมาได้ และการทรงตัวบนมอเตอร์ไซด์ของผมก็ดีขึ้นมากทีเดียว มีการเอี้ยวซ้ายและขวาตามจังหวะ แต่พี่น้องครับ ทั้งกายนี่นะ ระบมไปหมดเลย ทั้งแขนที่ต้องเกร็งบังคับรถ เอวที่เจ็บระบม เพราะแรงกระแทก และก้นที่มันถูกเบาะรถแยกฉีกออกบ่อยครั้ง เฮ้อ! เอาละไม่เป็นไร อาการต่างๆ เกิดขึ้น เดี๋ยวมันก็หายไป ก็ยังดีที่มีเรื่องมาเล่าให้ฟัง พอคลายเครียด งานวิชาการบางทีก็สนุกสนาน เฮฮา และมันส์โหด เป็นเหมือนกัน ไม่ใช่แต่ซีเรียสอย่างเดียว ถ้าไปสำรวจที่อื่น และมีเวลาเขียนจะนำมาเล่าให้อีกครับ
(ขอขอบคุณองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ที่สนับสนุนโครงการศึกษานิเวศวิทยาและชีววิทยาฟ้ามุ่ย ซึ่งการสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ)